มะเร็งปากมดลูกศัตรูตัวร้ายของผู้หญิง

หากสาวใดมีอายุย่างเข้า 30 ปีแล้วนั้น คงจะมีอารมณ์ของความหวิว ๆ เข้ามาปนและอาจรู้สึกได้ว่าอายุจนป่านนี้แล้วถึงเวลาสักทีที่ฉันจะสละ…ทุกอย่างให้กับความรักอย่าให้ความใกล้ชิดบดบังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงเราเพราะนอกจากจะมีปัญหายุ่งยากแล้วมันอาจทำให้คุณสูญเสียหลายอย่างในชีวิตได้อย่างไม่คาดฝัน

มะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตผู้หญิงไทยถึง 7 คนต่อวันและจากสถิติพบว่าหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยปีละ 6,000 ราย ความร้ายกาจของโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เอชพีวี (Human Papilloma Virus; HPV) ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์แต่สิ่งที่ทำให้โรคนี้น่ากลัวที่สุด ก็คือคุณจะไม่รู้ตัวเลยว่าคุณได้รับเชื้อ HPV เข้าไปในบริเวณปากมดลูกเรียบร้อยแล้ว เพราะในบางรายเชื้อ HPV จะใช้เวลาถึง 10 ปีในการก่อตัวเป็นมะเร็ง

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆที่ส่งผลให้คุณผู้หญิงที่ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อยหรือสาวใหญ่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ลองมาดูเช็คลิสต์นี้ดูสิคะว่า สาเหตุใดบ้างที่ทำให้คุณอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

  • มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
  • มีคู่นอนหลายคนหรือมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน
  • รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน (ถ้านานกว่า 5 ปี จะมีความเสี่ยงสูง)
  • มีจำนวนการตั้งครรภ์และการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง
  • มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เริม เป็นต้น
  • สูบบุหรี่
  • ขาดการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • ขาดสารอาหารบางชนิด โดยฉพาะผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อย มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดพบบ่อย รวมทั้งมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้มาก

หากคุณมีปัจจัยบางอย่างหรือหลายอย่างดังที่กล่าวมา และ ไม่มั่นใจว่า ณ เวลานี้ คุณมีเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสร้ายชนิดนี้ วันนี้ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ มีแนวทางการดูแลตัวเองที่ทุกคนสามารถทำได้ มาฝากเป็นเกร็ดความรู้ดังต่อไปนี้ค่ะ

  • กลุ่มอายุ 9-26 ปีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัส HPV และเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ปากมดลูกเกิดความผิดปกติ จนในที่สุดเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง ได้โดยโดยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกโรงพยาบาลค่ะ)
  • กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ควรเริ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกภายใน 3 ปีหรือเริ่มตรวจเมื่ออายุครบ 21 ปี และควรทำการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปีจนถึงอายุ 30 ปี
  • กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการต่อไปนี้
  • การตรวจทางเซลล์วิทยา (Pap Test) เพียงอย่างเดียว ถ้าได้รับผลการตรวจคัดกรองทุกปีเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี หรือมากกว่าสามารถเว้นระยะการตรวจคัดกรอง เป็นทุกๆ 2-3 ปีได้
  • การตรวจทางเซลล์วิทยา (Pap Test) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์ผิดปกติตรวจหาไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) ถ้าผลการตรวจคัดกรองปกติทั้งสองอย่างสามารถรับการตรวจทุกๆ 3 ปีได้ แต่หากพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • ลิควิ-เพร็พ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงในการทำ PAP Smear จากวิธีการเดิมในการตรวจคัดกรองหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก
    การส่องกล้องตรวจความผิดปกติของปากมดลูกเรียกว่า โคลโปสโคปี้ (colposcopy) เมื่อมีผลตรวจแปปสเมียร์ผิดปกติ

แม้ว่าการรักษาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น

  • การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
  • การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น
  • การจี้ด้วยเลเซอร์
  • การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด
  • จะสามารถรักษาให้หายขาดได้หากมะเร็งอยู่ในระยะก่อนลุกลาม แต่หากเมื่อมะเร็งได้ลุกลามแล้ว คุณจำเป็นต้องตัดมดลูกหรือทำการฉายแสง หรือเคมีบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ทราบกันดีถึงความทรมานของผลกระทบ
  • ข้างเคียง อย่ามัวแต่อาย หรือกลัวเจ็บกันอยู่เลย

การระมัดระวังและรู้ทันโรคจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยรักษาชีวิตของคุณให้อยู่ยืนยาวขึ้นและมีความสุขกับคนที่คุณรักตราบนานเท่านาน